ประเด็นสำคัญ
- นักบัญชี คือ บุคลากรผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแล บริหารจัดการข้อมูลทางการเงินของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นรายรับ รายจ่าย เพื่อให้ได้ผลการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง นำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำของผู้บริหาร
- ในบทความนี้จะมาทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของนักบัญชีว่ามีอะไรบ้าง ตลอดจนข้อควรรู้ต่างๆ ก่อนที่กิจการจะตัดสินใจจ้างนักบัญชี
ในยุคสมัยที่ธุรกิจมีความซับซ้อน การเงินกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนความสำเร็จ เจ้าของธุรกิจหลายคนจึงมองหานักบัญชีมืออาชีพเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ
แล้วธุรกิจขนาดเล็กล่ะ? จำเป็นต้องจ้างนักบัญชีด้วยหรือ? ก็ต้องบอกว่าหากเจ้าของธุรกิจที่ต้องการข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ควรมีนักบัญชีมืออาชีพมาช่วยจัดการ แต่การจ้างนักบัญชีสักคน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติหลายประการด้วยเช่นกัน
นักบัญชีกับบทบาทในกิจการ
บทความนี้ PEAK ร่วมกับ OfficeMate จะพาคุณไปรู้จักกับบทบาทที่หลากหลาย ทักษะที่จำเป็น รวมถึงประเภทของนักบัญชี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการที่กำลังมองหานักบัญชี
นักบัญชีเปรียบเสมือนผู้ดูแลด้านการเงินของธุรกิจ หน้าที่หลักของพวกเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบันทึกรายรับรายจ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องสำคัญต่างๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน
1. การจัดทำบัญชี
นักบัญชีทำหน้าที่จัดทำงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และรายงานทางการเงินอื่นๆ เปรียบเสมือนภาพสะท้อนสถานะทางการเงินของธุรกิจ ช่วยให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจถึงสถานะทางการเงิน สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การเสียภาษี
นักบัญชีจะคำนวณภาษี เตรียมเอกสาร และยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้ครบถ้วน ถูกต้องตามกฎหมาย ช่วยให้ธุรกิจไม่ต้องเสียค่าปรับ เงินเพิ่มจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องโดยไม่จำเป็นได้
3. การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน
นักบัญชีจะวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน เช่น อัตราส่วนทางการเงิน จุดคุ้มทุน กระแสเงินสด เพื่อช่วยให้เจ้าของธุรกิจตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การวิเคราะห์อัตราส่วนสภาพคล่อง ช่วยให้เจ้าของธุรกิจทราบว่าธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะชำระหนี้สินระยะสั้นหรือไม่ หรือหากมีความผิดปกติทางการเงินเกิดขึ้น นักบัญชีจะได้นำเสนอข้อมูลต่อผู้บริหาร เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
4. การให้คำปรึกษาทางการเงิน
นักบัญชีสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนภาษี การจัดการเงินทุน การลงทุน และอื่นๆ ช่วยให้เจ้าของธุรกิจบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักบัญชีมืออาชีพควรมีทักษะอะไรบ้าง
นอกเหนือจากความรู้ด้านบัญชีซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญแล้ว นักบัญชีจำเป็นจะต้องมีทักษะบางประการที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการทำงานร่วมกับ ทีมอื่นๆ ในบริษัทได้เป็นอย่างดี ได้แก่
1. การใช้โปรแกรมบัญชี
นักบัญชีควรมีความเชี่ยวชาญในการใช้งานโปรแกรมบัญชีที่รองรับระบบบัญชีของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ และลดความผิดพลาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
2. การสื่อสาร
หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของนักบัญชี ก็คือ การอธิบายข้อมูลทางการเงินให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจได้อย่างชัดเจน เช่น การนำเสนอผลประกอบการ อธิบายสาเหตุของกำไรหรือขาดทุน ดังนั้น นักบัญชีจึงควรมีทักษะในการสื่อสารที่ดี เพื่อถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. กฎหมาย
นักบัญชีควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน กฎหมายธุรกิจ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้ธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
4. การคิดวิเคราะห์
เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน หาสาเหตุของปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข เช่น การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางแก้ไขที่ควรปฏิบัติ เป็นต้น
นักบัญชีกับประเภทงานบัญชีของกิจการ
การจัดการงานบัญชีนั้นจะเกี่ยวข้องกับงานหลายส่วน จึงสามารถแบ่งงานบัญชีออกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งมีความรับผิดชอบการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. การบัญชีการเงิน เป็นงานบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีและนำเสนอรายงานทางการเงิน ตลอดจนงบการเงินของกิจการที่จัดทำขึ้นภายใต้มาตรฐานบัญชี เพื่อนำข้อมูลต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและนอกองค์กร
2. การบัญชีบริหาร เป็นการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินขององค์กรต่อฝ่ายบริหารเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การบัญชีต้นทุน เป็นวิธีการทางบัญชีที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต้นทุนของธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินตลอดจนวิเคราะห์และจำแนกข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารต้นทุนของกิจการ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการผลิต ต้นทุนขาย ตลอดจนตีราคาสินค้าคงเหลือ เพื่อนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการต้นทุนต่อไป
4. การตรวจสอบบัญชี เป็นกระบวนการตรวจสอบรายการทางบัญชี ตลอดจนหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงบัญชีของบุคคลหรือองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่ารายการต่างๆ ได้มีการถูกบันทึกไว้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และข้อบังคับของกฎหมาย โดยปกติการตรวจสอบบัญชีจะทำโดยผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) เพื่อขจัดปัญหาความลำเอียงในการปฏิบัติงานตรวจสอบ
5. การบัญชีภาษี เป็นกระบวนการจัดทำบัญชีของกิจการ โดยพิจารณาปรับเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีบางรายการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายภาษีอากร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่นำไปใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ รวมทั้งการจัดทำรายการที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดของกฎหมายภาษีอากร
6. ระบบสารสนเทศทางการบัญชี จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ติดตั้ง ใช้งาน และตรวจสอบขั้นตอนการบัญชี ตลอดจนระบบที่ใช้ในกระบวนการบัญชี รวมถึงทิศทางบุคลากรทางการบัญชี และการจัดการซอฟต์แวร์
ข้อดี vs ข้อจำกัดของการจ้างนักบัญชี
ข้อดีของการจ้างนักบัญชี
- ช่วยให้มั่นใจได้ว่างานบัญชีจะถูกต้องตามหลักบัญชีและกฎหมาย
- ช่วยให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และทรัพยากร
- ช่วยให้เจ้าของธุรกิจมีข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการตัดสินใจ
- ช่วยให้ธุรกิจมีภาพลักษณ์ที่ดี และน่าเชื่อถือ
ข้อจำกัดของการจ้างนักบัญชี
- มีค่าใช้จ่ายในการจ้าง โดยเฉพาะนักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือมีประสบการณ์สูง
- อาจจะต้องใช้เวลาในการหานักบัญชีที่เหมาะสมกับธุรกิจ
สรุป
ข้อมูลข้างต้น เป็นการวิเคราะห์เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้ประกอบการท่านใดที่กำลังวางแผนจัดการด้านการเงิน หรือพัฒนาระบบบัญชีของกิจการ อย่าลืมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ถี่ถ้วน หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ
หากเป็นเรื่องอุปกรณ์จำเป็นในการจัดการบัญชี ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มเก็บเอกสาร แบบฟอร์มหนังสือรับรองการหักภาษี บิลเงินสด ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ หรือแบบฟอร์มเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ แนะนำที่ https://www.ofm.co.th/ มีสินค้าที่ช่วยให้นักบัญชีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ