ค่าเสื่อมราคาเป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับนักบัญชี แต่สำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือบุคคลทั่วไป คงจะเคยผ่านตาสำหรับคำว่า “ค่าเสื่อมราคา” ในการอ่านงบการเงินหรือรายงานทางการเงินต่างๆ มาบ้างแต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของค่าเสื่อมราคา หรือค่าเสื่อมราคาสะท้อนให้เห็นอะไรเกี่ยวกับกิจการ
ค่าเสื่อมราคาคืออะไร
ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) คือ ค่าใช้จ่ายที่ทยอยตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่กิจการใช้ประโยชน์และเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป สินทรัพย์เหล่านี้ได้แก่สินทรัพย์ถาวร โดยส่วนใหญ่มีมูลค่าสูง ซึ่งกิจการต้องประมาณการอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์แต่ละรายการ เพื่อที่จะทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละงวด
สินทรัพย์ถาวร คืออะไร
สินทรัพย์ถาวร หมายถึง สินทรัพย์ที่มีลักษณะถาวรโดยสภาพ โดยเข้าเงื่อนไขทุกข้อดังต่อไปนี้
- กิจการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต เพื่อใช้ในการจัดจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้เช่าหรือเพื่อใช้ในการบริหารงาน
- กิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบปีบัญชี
สินทรัพย์ถาวรแบ่งตามลักษณะสินทรัพย์ได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
1. สินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตน (Tangible Fixed Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่มีรูปร่าง สามารถมองเห็น สัมผัส จับต้องได้ กิจการมีไว้เพื่อใช้ในการดำเนินงานและอายุการใช้งานนานหลายปี ได้แก่ ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องตกแต่ง เป็นต้น
2. สินทรัพย์ถาวรที่ไม่มีตัวตน (Intangible Fixed Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง ไม่สามารถสัมผัส จับต้องได้ แต่สามารถวัดมูลค่าได้และให้ประโยชน์ในการดำเนินงาน แต่มีความไม่แน่นอนของประโยชน์ในอนาคตค่อนข้างสูง ได้แก่ ซอฟต์แวร์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น
เมื่อกิจการนำสินทรัพย์ถาวรที่มีอยู่มาใช้ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกิจการ มูลค่าของสินทรัพย์ย่อมลดลงจากวันที่ซื้อสินทรัพย์ มีการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานและลักษณะการใช้งาน ทำให้ประโยชน์และประสิทธิภาพการใช้งานลดลง กิจการจึงต้องเฉลี่ยมูลค่าราคาทุนของสินทรัพย์ตามอายุการใช้งาน เพื่อคำนวณมูลค่าที่เสื่อมลงของสินทรัพย์ถาวรในแต่ละงวดบัญชี โดยสินทรัพย์ถาวรที่นำมาคิดค่าเสื่อมราคาเป็นสินทรัพย์ประเภทที่มีตัวตน (Tangible Fixed Assets) ได้แก่ อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง ยานพาหนะ เป็นต้น โดยตัดเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวด ยกเว้น ที่ดิน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่ไม่หักค่าเสื่อมราคาเนื่องจากอายุการใช้ประโยชน์ของที่ดินไม่จำกัด และมูลค่าคงเหลือของที่ดินมีค่าเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าตามบัญชี โดยกิจการจะต้องทยอยบันทึกค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละงวดบัญชี ไม่สามารถบันทึกตัดเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน ณ ปีที่ซื้อสินทรัพย์ถาวรนั้น
ข้อดีของการคิดค่าเสื่อมราคา คือ เป็นการปันส่วนต้นทุนของสินทรัพย์ถาวรที่มีตัวตนเป็นค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานอย่างเป็นระบบ และทำให้ตัวเลขกำไรขาดทุนมีความสมเหตุสมผล ถ้ากิจการไม่ใช้การบันทึกค่าเสื่อมราคา เงินที่จ่ายซื้อสินทรัพย์ถาวรจะถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในทันที ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขกำไรขาดทุนของกิจการอย่างมีสาระสำคัญ ทำให้งบการเงินดูผิดปกติ โดยกิจการซึ่งมีกำไรมาตลอดแต่มาแสดงผลประกอบการเป็นขาดทุนอย่างมากในปีที่มีการซื้อเครื่องจักร
ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการคำนวณค่าเสื่อมราคา
ในการคำนวณค่าเสื่อมราคา กิจการต้องรวบรวมข้อมูลพื้นฐานดังต่อไปนี้
1. จำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคา (Depreciation Base)
จำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคา หมายถึง ราคาทุนของสินทรัพย์หรือมูลค่าอื่นที่ใช้แทนราคาทุน หักด้วยมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์
ราคาทุนของสินทรัพย์ ประกอบด้วย
- ราคาซื้อรวมอากรขาเข้าและภาษีที่เรียกคืนไม่ได้หลังหักส่วนลดการค้าและจำนวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย
- ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์ เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร
ตัวอย่าง ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
ก. ต้นทุนผลประโยชน์ของพนักงานที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการก่อสร้าง หรือการได้มาซึ่งที่ดินอาคารอุปกรณ์
ข. ต้นทุนการเตรียมสถานที่
ค. ต้นทุนการขนส่งเริ่มแรกและการเก็บรักษา
ง. ต้นทุนการติดตั้งและการประกอบ
จ. ต้นทุนในการทดสอบว่าสินทรัพย์นั้นสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ หลังหักมูลค่าสิ่งตอบแทนสุทธิที่ได้รับจากการขายรายการต่างๆ ที่ผลิตได้ในช่วงเตรียมความพร้อมของสินทรัพย์ เพื่อให้อยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ (เช่น สินค้าที่ผลิตขึ้นในช่วงการทดสอบอุปกรณ์)
ฉ ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ
- ต้นทุนที่ประมาณเบื้องต้นสำหรับการรื้อ ขนย้าย และการบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระผูกพันของกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการได้สินทรัพย์นั้นมา หรือเป็นผลจากการใช้สินทรัพย์นั้นในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่มิใช่วัตถุประสงค์ในการผลิตสินค้าคงเหลือในระหว่างรอบระยะเวลานั้น
ส่วนต้นทุนที่ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทุน ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ ได้แก่
ก. ต้นทุนในการเปิดสถานประกอบการใหม่
ข. ต้นทุนในการแนะนำสินค้าหรือบริการใหม่ (รวมถึงต้นทุนในการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย)
ค. ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในสถานที่ตั้งใหม่ หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ (รวมทั้งต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงาน)
ง. ต้นทุนในการบริหารและค่าใช้จ่ายทั่วไป
โดยสรุป ราคาทุน = ราคาซื้อ+ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการซื้อจนทำให้สินทรัพย์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามต้องการ
ต้วอย่างที่1 ราคาทุน
วันที่ 31 สิงหาคม 2564 กิจการจ่ายเงินซื้อเครื่องจักร เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท โดยได้รับส่วนลด 10% (เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท) และจ่ายค่าขนส่ง 200,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและทดลองการใช้เครื่อง 100,000 บาท ดังนั้นราคาทุนของเครื่องจักร=10,000,000-1,000,000+200,000+100,000 =9,300,000 บาท
2. อายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ (Useful life)
ในการกำหนดอายุการใช้งานของสินทรัพย์ เจ้าของกิจการควรประเมินอายุการใช้งานจริงของสินทรัพย์ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
2.1 Physical Factors คือ พิจารณาประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยประเมินจากกำลังการผลิตหรือผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์ ได้แก่ ชั่วโมงการทำงานของเครื่องจักร
2.2 Economic Factors คือ พิจารณาอายุประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยคำนึงถึงความล้าสมัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงการผลิต ซึ่งมีทั้งความล้าสมัยทางเทคนิคและความล้าสมัยทางพาณิชย์ เช่น กิจการมีแผนยกเลิกการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งเนื่องจากมีความล้าสมัย จึงมีแผนที่จะยกเลิกการใช้งานเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าดังกล่าวในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งๆ ที่เครื่องจักรยังมีความสามารถในการผลิตอยู่ ในกรณีนี้อายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์กำหนดจากความล้าสมัยทางพาณิชย์
2.3 Other Factors คือ พิจารณาจากข้อกำหนดทางกฎหมายหรือข้อจำกัดอื่นๆ เช่น พิจารณาจากอายุสัญญาเช่าซึ่งถือเป็นข้อจำกัด อย่างกรณีการสร้างอาคารบนที่ดินที่เช่า ซึ่งอาคารมีอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ 20 ปี แต่สัญญาเช่าที่ดินมีอายุ 15 ปี กิจการก็ควรคิดค่าเสื่อมราคาอาคารจากอายุการใช้งานเพียง 15 ปีตามสัญญาเช่า
3.อัตราคำนวณค่าเสื่อมราคา (Depreciation Rate)
ในทางบัญชีไม่ได้กำหนดอัตราการคำนวณค่าเสื่อมราคา แต่ใช้การประมาณการอายุการใช้งานให้เหมาะกับประเภททรัพย์สินดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2 แต่ในทางภาษี กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์การหักค่าเสื่อมราคาไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ฉบับที่ 145 พ.ศ.2527 ซึ่งกำหนดให้กิจการหักค่าสึกหรอตามวิธีเส้นตรง ตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในอัตราของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินดังต่อไปนี้
1) อาคาร
– อาคารถาวร
ร้อยละ 5
– อาคารชั่วคราว ร้อยละ 100
2) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้
ร้อยละ 5
3) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า
– กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่า
หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่มีข้อกำหนด ให้ต่ออายุการเช่าได้
โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้นเปิดโอกาสให้ต่ออายุการเช่ากันได้ต่อๆ ไป ร้อยละ 10
– กรณีมีหนังสือสัญญาเช่าที่ไม่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้หรือมีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัดแน่นอน
ร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุ การเช่า
และอายุที่ต่อได้รวมกัน
4) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี
สูตรกู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
– กรณีไม่จำกัดอายุการใช้งาน ร้อยละ
10
– กรณีจำกัดอายุการใช้ ร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้
5) ทรัพย์สินอื่นซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอ
หรือเสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้า ร้อยละ
20
6) เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนา
ร้อยละ 40
สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ
1-5
7) เครื่องบันทึกการเก็บเงินของผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม
7.1) หักจากมูลค่าต้นทุน ร้อยละ 100
7.2) หักในวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
ร้อยละ 40
สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ
1-5
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สิน จะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีนั้นในบางปีเกินอัตราที่กำหนดข้างต้นก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น
วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา
สำหรับการคำนวณค่าเสื่อมราคาโดยทั่วไปมีด้วยกัน 4 วิธีดังนี้
1 วิธีเส้นตรง (Straight-line Method)
การคำนวณค่าเสื่อมราคาโดยวิธีเส้นตรงมีข้อสมมติฐานที่ว่ากิจการจะได้รับผลประโยชน์จากการใช้สินทรัพย์ที่เท่ากันทุกๆ ปีตลอดอายุการใช้งาน
ค่าเสื่อมราคาต่อปี= (ราคาทุน-ราคาซาก)/ อายุการใช้งาน
ตัวอย่างที่2 กิจการซื้อเครื่องจักร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ราคา 1,000,000 บาท จ่ายค่าติดตั้งและทดลองการใช้เครื่อง 50,000 บาท มีอายุการใช้งาน 5 ปี
เมื่อเลิกใช้เครื่องจักรคาดว่าจะขายเป็นเศษซากได้ในราคา 10,000 บาท
ค่าเสื่อมราคาต่อปี=(1,000,000-50,000-10,000) / 5 = 188,000 บาท
ระยะเวลาในการใช้งานในปี 2563 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 = 1 ปี
ดังนั้นค่าเสื่อมราคาประจำปี 2563 = 188,000 บาท
ผลจากการคำนวณ ทำให้ค่าเสื่อมราคามีจำนวนคงที่ตลอดอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์หากมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง
2. วิธียอดลดลงทวีคูณ (Double Declining Balance Method)
เป็นการคำนวณหาอัตราค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรงต่อปีแล้วปรับเป็น 2 เท่า จากนั้นนำอัตรา 2 เท่าที่คำนวณได้ไปคำนวณค่าเสื่อมราคาสำหรับงวด โดยคำนวณจากราคาตามบัญชี (Book Value) ของสินทรัพย์ถาวรที่ลดลงทุกปี โดยไม่นำราคาซากมาเกี่ยวข้องกับการคำนวณ เป็นการคิดค่าเสื่อมราคาในปีแรกๆ ควรสูงกว่าในปีหลังๆ หรือเรียกว่าเป็นการคิดในอัตราเร่ง โดยหลักการคือ สินทรัพย์ถาวรที่ซื้อมาใหม่ย่อมมีประสิทธิภาพการใช้งานสูง
ตัวอย่างที่ 3
กิจการซื้อเครื่องจักรเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ราคา 650,000 บาท มีอายุการใช้งาน 5 ปี ประมาณราคาซากที่ราคา 50,000 บาท
การคำนวณค่าเสื่อมราคา
อัตราค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรง = 100/5 = 20%
สองเท่าของอัตราค่าเสื่อมราคา = 2*20% = 40%
ตารางการคำนวณค่าเสื่อมราคา (บาท)
ปีที่ | ราคาตามบัญชี ณ วันต้นปี | อัตราค่าเสื่อม ราคา | ค่าเสื่อมราคา | ค่าเสื่อมราคาสะสม | ราคาตามบัญชี ณ วันสิ้นปี |
1 | 650,000 | 40% | 260,000 | 260,000 | 390,000 |
2 | 390,000 | 40% | 156,000 | 416,000 | 234,000 |
3 | 234,000 | 40% | 93,600 | 509,600 | 140,400 |
4 | 140,400 | 40% | 56,160 | 565,760 | 84,040 |
5 | 84,240 | 34,240 | 600,000 | 50,000 |
หมายเหตุ การคำนวณค่าเสื่อมราคาในปีที่5 คิดจากราคาตามบัญชีคงเหลือ-ราคาซาก = 84,240-50,000 = 34,240 บาท
3. วิธีผลรวมจำนวนปี (Sum of the Years’ Digits)
วิธีนี้ถือจำนวนปีหรืออายุการใช้งานของสินทรัพย์ถาวรเป็นเกณฑ์ โดยใช้ผลบวกรวมทั้งสิ้นในรูปเศษส่วนและจำนวนเศษส่วนจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ
ในการคำนวณค่าเสื่อมราคา เป็นการคิดค่าเสื่อมราคาแบบอัตราเร่งเช่นเดียวกับวิธียอดลดลงทวีคูณ โดยค่าเสื่อมราคาในปีแรกๆ จะสูงกว่าในปีหลังๆ
การคำนวณค่าเสื่อมราคา
- ผลรวมจำนวนปี = n(n+1) /2, n คือ จำนวนปีที่ตาดว่าจะใช้สินทรัพย์ได้
- ราคาทุน-ราคาซาก
ตัวอย่างที่ 4
กิจการซื้อรถยนต์ราคา 10,000,000 บาทเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ราคาซาก 1,000,000 บาท มีอายุการใช้งาน 5 ปี
การคำนวณค่าเสื่อมราคา
(ก) ผลรวมจำนวนปี = 5*(5+1)/2 =15
(ข) ราคาทุน-ราคาซาก = 10,000,000-1,000,000 = 9,000,000 บาท
ตารางการคำนวณค่าเสื่อมราคา (บาท)
ปีที่ | ราคาทุน-ราคา ซาก | อัตราค่าเสื่อมราคา | ค่าเสื่อมราคา | ค่าเสื่อมราคาสะสม | ราคาตามบัญชี ณ วันสิ้นปี |
1 | 9,000,000 | 5/15 | 3,000,000 | 3,000,000 | 7,000,000 |
2 | 9,000,000 | 4/15 | 2,400,000 | 5,400,000 | 4,600,000 |
3 | 9,000,000 | 3/15 | 1,800,000 | 7,200,000 | 2,800,000 |
4 | 9,000,000 | 2/15 | 1,200,000 | 9,400,000 | 1,600,000 |
5 | 9,000,000 | 1/15 | 600,000 | 10,000,000 | 1,000,000 |
หมายเหตุ ราคาตามบัญชีในปีที่ 5 เท่ากับราคาซากของรถยนต์ 1,000,000 บาท
ผลจากการคำนวณ ทำให้ค่าเสื่อมราคาลดลงตลอดอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์
4 วิธีตามจำนวนผลผลิต (Productive-Output Method) หรือตามชั่วโมงการทำงาน (Working-Hours Method)
วิธีนี้ใช้จำนวนหน่วยผลิตหรือจำนวนชั่วโมงการทำงานซึ่งเป็นสัดส่วนจริงในการใช้งานเป็นเกณฑ์ในการปันส่วน โดยมีสมมติฐานว่าสินทรัพย์มีการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน
ผลจากการคำนวณ ทำให้ค่าเสื่อมราคาขึ้นอยู่กับประโยชน์หรือผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์ ดังนั้นในปีที่มีการผลิตสินค้าจำนวนมากหรือมีชั่วโมงการทำงานสูง ค่าเสื่อมราคาก็จะสูงตามไปด้วย
การคำนวณค่าเสื่อมราคา
- อัตราค่าเสื่อมราคาต่อจำนวนหน่วยผลิตหรือต่อชั่วโมงการทำงาน = (ราคาทุน-ราคาซาก) / n
n=ประมาณการจำนวนหน่วยผลิตหรือชั่วโมงการทำงานตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์
(ข) ค่าเสื่อมราคาประจำปี = จำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละปี x อัตราค่าเสื่อมราคาต่อชั่วโมง(หน่วย)
ตัวอย่างที่ 5
กิจการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 มูลค่า 2,000,000 บาท มีค่าขนส่ง ค่าติดตั้งและทดลองเครื่องรวม 200,000 บาท และประมาณราคาซากที่ราคา 500,000 บาท
กิจการประมาณว่าเครื่องจักรนี้จะสามารถผลิตสินค้าได้ตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยมีชั่วโมงการทำงานรวม 17,000 ชั่วโมง
ในปีที่1 ผลิตสินค้าได้ 2,000 ชั่วโมง
ปีที่2 ผลิตสินค้าได้ 3,000 ชั่วโมง
ปีที่3 ผลิตสินค้าได้ 5,000 ชั่วโมง
ปีที่4 ผลิตสินค้าได้ 4,000 ชั่วโมง
ปีที่5 ผลิตสินค้าได้ 3,000 ชั่วโมง
การคำนวณค่าเสื่อมราคา
- อัตราค่าเสื่อมราคาต่อชั่วโมงการทำงาน = (ราคาทุน-ราคาซาก)/ n
n=ประมาณการชั่วโมงการทำงานตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์
= (2,000,000+200,000)-500,000/ 17,000
= 100 บาทต่อชั่วโมง
(ข) ค่าเสื่อมราคาประจำปี = จำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละปี x 100 บาทต่อชั่วโมง (หน่วย)
ตารางการคำนวณค่าเสื่อมราคา (บาท)
ปีที่ | จำนวนชั่วโมงการ ผลิต | อัตราค่าเสื่อมราคา (บาทต่อชั่วโมง) | ค่าเสื่อมราคา | ค่าเสื่อมราคสะสม | ราคาตามบัญชี ณ วันสิ้นปี |
1 | 2,000 | 100 | 200,000 | 200,000 | 2,000,000 |
2 | 3,000 | 100 | 300,000 | 500,000 | 1,700,000 |
3 | 5,000 | 100 | 500,000 | 7,200,000 | 1,200,000 |
4 | 4,000 | 100 | 400,000 | 9,400,000 | 800,000 |
5 | 3,000 | 100 | 300,000 | 10,000,000 | 500,000 |
หมายเหตุ ราคาตามบัญชีในปีที่ 5 เท่ากับราคาซากของเครื่องจักร 500,000 บาท
ตัวเลขค่าเสื่อมราคาสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ในการวิเคราะห์งบการเงินของกิจการ ค่าเสื่อมราคาซึ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่แสดงในงบกำไรขาดทุนที่สะท้อนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนหรือผู้ใช้งบการเงินเห็นถึง
1. สำหรับนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ค่าเสื่อมราคาช่วยให้ทราบมูลค่าต้นทุนที่แท้จริงของอสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นเท่าไร ควรตัดสินใจซื้อหรือเช่า ราคาที่ประกาศขายมีความเหมาะสมหรือไม่ ควรตั้งราคาขายที่เท่าไร
2. สำหรับกิจการประเภทผลิตสินค้าหรือกิจการที่มีสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก ค่าเสื่อมราคามีผลต่อกำไรสุทธิของกิจการอย่างมีสาระสำคัญ เมื่อเทียบกับกิจการซื้อมาขายไปหรือกิจการบริการ
3. ในการวิเคราะห์งบการเงิน การใช้นโยบายวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของตัวเลขกำไรของบริษัท
4. การประเมินมูลค่าซากและอายุการใช้งานของสินทรัพย์ถาวรของกิจการมีผลต่อกำไรของกิจการ ถ้ากิจการไม่สามารถประเมินได้อย่างเหมาะสม จะทำให้กำไรไม่สะท้อนความเป็นจริง เกิดความเข้าใจผิดสำหรับผู้ใช้งบการเงิน
5. กรณีกิจการมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา นักลงทุนหรือผู้ใช้งบการเงินควรวิเคราะห์สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงการคำนวณเพื่อต้องการแสดงผลกำไรสูงขึ้นกว่าปีก่อนหรือไม่
6. ในการคำนวณกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) คำนวณจากกำไรสุทธิของกิจการบวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคา เนื่องจากค่าเสื่อมราคาถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสเงินสดที่กิจการมีอยู่ที่เหลือจากการใช้จ่ายจากการดำเนินการซึ่งกิจการสามารถนำไปใช้ลงทุนต่อได้
7 การคิดค่าเสื่อมราคาทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในแต่ละงวด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นตัวเงิน ทำให้กิจการมีเงินสดเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อได้หรือเป็นเงินสดสำรองของบริษัทไว้ใช้ปรับปรุงและพัฒนากิจการในด้านต่างๆต่อไป
8 ในการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร เจ้าของกิจการไม่ควรนำสินทรัพย์ส่วนตัว เช่น บ้าน รถยนต์ มาบันทึกเป็นสินทรัพย์ของกิจการและตัดค่าเสื่อมราคา ที่จริงในทางบัญชีไม่มีประเด็นอะไร แต่ในทางภาษี ค่าเสื่อมราคาดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65ตรี ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ การบันทึกบัญชีดังกล่าวจะทำให้ข้อมูลตัวเลขผลประกอบการผิดพลาดเพราะไม่สะท้อนข้อเท็จจริงของธุรกิจ
PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการคำนวณค่าเสื่อมราคาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว PEAK มี New Feature ที่แสดงค่าเสื่อมราคาสะสมยกมายกมาและมูลค่าซากในรายงานสินทรัพย์ถาวรรายตัว ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มจำนวนรายการสินทรัพย์ถาวรให้รองรับสูงสุดถึง 4,000 รายการ
ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook
อ้างอิง:
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์, PEAKACCOUNT,18 พฤษภาคม 2563
การคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์, ธรรมนิติ, 11 ธันวาคม 256
คู่มืออธิบายมาตรฐานทางบัญชีฉบับที่ 16, สภาวิชาชีพบัญชีฯ, 4 กุมภาพันธ์ 2562
Slide บทที่11 เรื่องที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ , ผ.ศ.อัจฉราพร โชติพฤกษ์