การยื่นภาษีเป็นหน้าที่บุคคลธรรมดาผู้มีรายได้ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ ต้องทำเป็นประจำทุกปี แต่มีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนหลายประการของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจัดเก็บเป็นรายปี โดยผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
เมื่อถึงเทศกาลที่ต้องยื่นภาษีประจำปี หลายคนยังคงสับสนและเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา PEAK จึงขอสรุป “8 ความใจผิดเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น ดังนี้
1. การหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ การจ่ายภาษีแล้ว
เมื่อบุคคลได้รับเงินได้ประเภท เงินเดือน ค่าจ้างทำของ ค่าบริการ ค่าขนส่ง ค่าบริการทำบัญชี เป็นต้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าในแต่ละครั้งที่ได้รับเงินได้ดังกล่าว โดยผู้หักภาษีมีหน้าที่นำส่งภาษีล่วงหน้านี้ให้แก่กรมสรรพากร และบุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำรายได้รวมทั้งปีมาคำนวณตัวเลขภาษีเงินได้ประจำปีอีกครั้งเมื่อต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี โดยนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วมาหักออกจากภาษีเงินได้ประจำปีที่คำนวณได้ ซึ่งส่วนต่างที่เกิดขึ้นเป็นภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือขอคืนแล้วแต่กรณี ดังนั้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายจึงไม่ใช่การจ่ายภาษี
2. ค่าลดหย่อนกับค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องเดียวกัน
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหลายคนสับสนระหว่างคำว่า”ค่าลดหย่อน”และ”ค่าใช้จ่าย”ว่าเป็นคำเดียวกัน แต่จริงๆแล้วทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน
ค่าใช้จ่าย คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่บุคคลผู้มีเงินได้ได้รับขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ เช่นเงินได้จาก เงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า หักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเงินได้จากงานวิชาชีพบัญชี หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงหรือในอัตราเหมา 30% เป็นต้น
ค่าลดหย่อนคือ สืทธิประโยชน์ทางภาษีที่บุคคลผู้มีเงินได้ได้รับ โดยขึ้นอยู่กับสถานภาพและภาระของบุคคลผู้เสียภาษีแต่ละคน เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับประกันชีวิตหักลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
3. ผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องยื่นแบบประจำปี
หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าบุคคลมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาทไม่ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จริงแล้วจำนวนเงิน 150,000 บาทหมายถึงเงินได้สุทธิซึ่งผู้มีเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้สุทธิคำนวณจาก รายได้ทั้งปีหักค่าใช้จ่ายหักค่าลดหย่อนทางภาษี ส่วนรายได้นั้นกรมสรรพากรได้กำหนดเกณฑ์ไว้สำหรับรายได้ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแม้ว่าจะไม่มีภาษีต้องชำระก็ตาม ดังนี้
ผู้มีรายได้จากการจ้างแรงงาน ได้แก่เงินเดือน ค่าจ้าง เพียงประเภทเดียว
กรณีคนโสด เมื่อมีรายได้เกิน 120,000 บาท
กรณีผู้มีคู่สมรส เมื่อมีรายได้เกิน 220,000 บาท (ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือสองฝ่ายรวมกัน)
ผู้มีรายได้จากการจ้างแรงงาน ได้แก่เงินเดือน ค่าจ้าง รวมทั้งเงินได้ประเภทอื่น หรือมีรายได้จากเงินได้ประเภทอื่นที่มิใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
กรณีคนโสด เมื่อมีรายได้เกิน 60,000 บาท
กรณีผู้มีคู่สมรส เมื่อมีรายได้เกิน 120,000 บาท (ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือสองฝ่ายรวมกัน)
4. ผู้ที่ไม่สมัครพร้อมเพย์จะไม่ได้คืนภาษี
ปัจจุบันกรมสรรพากรไม่มีระบบการคืนภาษีโดยส่งเช็คทางไปรษณีย์แล้ว และมีระบบการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยผ่านระบบโอนเงินแบบพร้อมเพย์ จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่าถ้าไม่ได้สมัครพร้อมเพย์จะไม่ได้คืนภาษี แต่ที่จริงแล้วการรับเงินคืนภาษีนอกจากผ่านระบบพร้อมเพย์ ประชาชนสามารถนำหนังสือแจ้งคืนภาษีที่ได้รับจากกรมสรรพากร ไปติดต่อธนาคารกรุงไทยหรือ ธ.ก.ส.เพื่อนำเงินเข้าบัญชีธนาคารแต่ถ้าไม่ได้เปิดบัญชีไว้กับธนาคารสามารถรับเงินที่ธนาคารกรุงไทยตามระบบที่ธนาคารกำหนดโดยเตรียมหนังสือแจ้งคืนภาษีที่ได้รับจากกรมสรรพากรพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทย
5. การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวน แม้มีผู้ร่วมกันหลายคน
มีผู้มีเงินได้หลายคนเข้าใจผิดว่าสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมค่าที่อยู่อาศัยมาหักลดหย่อนจากผู้มีเงินได้รายหนึ่งรายใดก็ได้ไม่ว่าจะมีผู้กู้ร่วมกี่คนก็ตาม แต่หลักเกณฑ์ในการหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมค่าที่อยู่อาศัย โดยปกติจะลดหย่อนตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงในปีภาษีแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่มีผู้กู้ร่วมกันหลายคนซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต้องนำจำนวนเงินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้กู้ร่วมกัน มิฉะนั้นการคำนวณภาษีของผู้กู้ร่วมแต่ละรายจะไม่ถูกต้อง
6. การทำประกันชีวิตสามารถหักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตว่าใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง บางคนจึงทำประกันชีวิตไว้หลายกรมธรรม์ด้วยหวังว่าจะนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษี แต่ที่จริงกฎหมายกำหนดให้หักค่าลดหย่อนสำหรับการทำประกันชีวิตได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
7. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ไม่จำเป็นต้องติดตามขอหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ มักจะผู้มีว่าจ้างงานหลายราย โดยปกติเมื่องานเสร็จจะได้รับค่าจ้างโดยผู้ว่าจ้างทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายและยื่นแบบภาษีภ.ง.ด.3 เป็นการจ่ายภาษีไปล่วงหน้าแล้ว เมื่อถึงสิ้นปี ถ้า Freelance ไม่นำรายได้มายื่นให้ครบก็จะโดนเบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีย้อนหลังหรือทำให้เสียโอกาสในกรณีที่มีเงินคืนภาษี ดังนั้นจึงควรขอหนังสือ 50 ทวิ เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละงานเพื่อจะได้รวบรวมหลักฐานการหักภาษีได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น
8. โครงการช้อปดีมีคืน ยิ่งช้อปเยอะเท่าไหร่ยิ่งสามารถหักค่าลดหย่อนได้มากขึ้น
โครงการช้อปดีมีคืนเป็นมาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีเงินได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้สิทธินำจำนวนเงินที่ซื้อสินค้าและบริการตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หลายคนเกิดความสับสนในเงื่อนไขของโครงการโดยเข้าใจว่า ยิ่งช้อปเยอะเท่าไหร่ยิ่งสามารถหักค่าลดหย่อนได้มากขึ้นเท่านั้น ที่จริงแล้วโครงการนี้จะคุ้มหรือไม่คุ้มไม่ได้ขึ้นอยู่กับช้อปเยอะหรือน้อย แต่อยู่ที่ว่าเสียภาษีในอัตราเท่าไร ถ้าผู้มีเงินได้คำนวณเงินได้สุทธิได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อให้ใช้สิทธิช้อปดีมีคืนเต็มวงเงิน 30,000 บาท ก็ไม่ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีจากโครงการนี้เพราะเงินได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดกันอย่างมากในเรื่องการเก็บหลักฐานเอกสารซึ่งเข้าใจกันว่าแค่เก็บใบเสร็จรับเงิน สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ โดยที่จริงเงื่อนไขของโครงการผู้ใช้สิทธิต้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบหรือขอใบเสร็จรับเงิน(ในกรณีผู้ขายไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากผู้ขาย
ที่กล่าวมานี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีเงินได้ในเรื่องภาษีเงินได้มากขึ้น และเป็นการทบทวนว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างไร เพื่อจะได้เข้าใจ และนำยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
ติดตามความรู้ของ PEAK ที่
Blog: http://peakaccount.com/blog
Facebook: facebook.com/peakengine