ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คืออะไร
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ เอกสารหลักฐานการขายสินค้า/บริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้ารายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก โดยผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขายสินค้า หรือให้บริการให้กับลูกค้ารายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น ธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร
ธุรกิจขายปลีกที่สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร มีลักษณะดังนี้
- ธุรกิจที่การขายสินค้าที่ผู้ขายขายให้กับผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้บริโภค ในปริมาณที่เหมาะสมกับการบริโภคไม่ได้นำไปใช้เพื่อขายต่อ หรือเพื่อนำไปผลิต ธุรกิจดังกล่าว เช่น กิจการขายของสะดวกซื้อ รายค้าปลีก ร้านยา ห้างสรรพสินค้า
- ธุรกิจที่ให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของร้านอาหาร โรงภาพยนต์ สถานบริการต่างๆ
Note 1: โดยผู้ขายที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อนั้น จะต้องสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ลูกค้าได้ เมื่อร้องขอ
7 รายการที่ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
- ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลข 13 หลักของผู้ออก
- เลขที่ของใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า/บริการ ออกเป็นรหัสก็ได้
- ราคาสินค้า/บริการ ต้องระบุให้เห็นชัดเจนว่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นๆตามที่สรรพากรกำหนด
Note 2: ลักษณะของใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่ได้กำหนดเคร่งครัดนัก เนื่องจากผู้ซื้อ ไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีอย่างย่อไปใช้เป็นภาษีซื้อได้
ความแตกต่างของใบกำกับภาษีเต็มรูป กับอย่างย่อ
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่ต้องแสดงชื่อผู้ซื้อ
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า/บริการ ออกเป็นรหัสก็ได้ ไม่ต้องแสดงชื่อจริง
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มจะรวมอยู่ในราคาสินค้า โดยแจ้งเพิ่มในหมายเหตุว่าเป็นราคารวมภาษีแล้ว
ทำไมเค้าจึงออกใบกำกับภาษีอย่างย่อกัน?
การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ มีข้อดีคือไม่ต้องใส่ชื่อที่อยู่ผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเลย เพราะว่าปัญหาส่วนนึงของการออกใบกำกับภาษีเต็มรูป คือผู้ซื้อไม่ได้ให้ข้อมูลชื่อที่อยู่
ต้องมีเครื่องเก็บเงินหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องเก็บเงิน ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ จริงๆ แล้วสามารถพิมพ์ออกจากโปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK ก็ได้ หรือจาก Word หรือ Excel ธรรมดาก็ได้
ถ้าจะใช้เครื่องเก็บเงิน ต้องทำอย่างไร?
ถ้าเรามีรายการค้าเยอะๆ และไม่อยากจะมาพิมพ์ใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ละใบ แน่นอนว่าการมีเครื่องเก็บเงินก็อาจจะสะดวกกว่า เพราะว่าทำได้ง่าย และเร็ว อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องเก็บเงินนั้น จะต้องใช้เครื่องเก็บเงินที่ได้ขึ้นทะเบียนกันกรมสรรพากร โดยจะมีเงื่อนไขต่างๆอยู่ และตัวร้านค้านั้นๆ จะต้องไปยื่นคำขอใช้เครื่องเก็บเงินที่สรรพากรท้องที่ด้วย หรือถ้ามีหลายสาขาก็สามารถยื่นคำขอรวมได้ที่สำนักงานใหญ่ก็ได้
ระวัง!! การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน จะต้องได้รับการอนุมัติก่อน ไม่งั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
หวังว่าในบทความนี้คุณผู้อ่านจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ถูกต้องประกอบด้วยข้อมูลอะไรบ้าง และผู้ประกอบการทุกท่านจะออกไม่ผิดกัน สำหรับความรู้อื่นๆเกี่ยวกับใบกำกับภาษี สามารถดูได้ที่ด้านล่างนี้
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 1 ใบกำกับภาษีคืออะไร, ตัวอย่างใบกํากับภาษี
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 2 หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 3 ใบกํากับภาษีมีกี่ประเภท
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 4 ตัวอย่างใบกำกับภาษี เต็มรูปแบบ
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 5 ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 6 ใบเพิ่มหนี้
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 7 ใบลดหนี้, ตัวอย่างใบลดหนี้
- ใบกำกับภาษี ตอนที่ 8 สรุปใบกำกับภาษี