จดทะเบียน เพิ่มทุน บริษัท เมื่อไหร่ที่ควรจดทะเบียน พร้อมข้อควรรู้

การดำเนินธุรกิจทุกธุรกิจมีเป้าหมายเพิ่มขยายการเติบโตให้ได้มากที่สุด และในเส้นทางการเติบโตของหลายองค์กร ก็มักจะมีการ จดทะเบียนเพิ่มทุน เข้ามาด้วยเสมอ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่บริษัทมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากขึ้น เจ้าของธุรกิจหลายคนเลือกที่จะ จดทะเบียน เพิ่มทุน เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจต่อสำหรับรองรับการเติบโตในอนาคต สำหรับท่านไหนที่กำลังสงสัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนเพิ่มทุน บทความนี้เรารวบรวมทุกเรื่องที่ควรรู้จะมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบกัน

จดทะเบียนเพิ่มทุนบริษัท เมื่อไหร่ที่ควรจดทะเบียน ขั้นตอน พร้อมเอกสารประกอบ

จดทะเบียนเพิ่มทุน คืออะไร?

การจดทะเบียนเพิ่มทุน คือ การที่บริษัทที่มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องการเพิ่มเงินทุนในการทำธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าในการจดทะเบียนครั้งแรกเริ่มจะต้องมีการแจ้งเงินทุนที่ใช้ในการจดทะเบียนอยู่แล้ว แต่สำหรับหลายธุรกิจที่ไม่ว่าจะต้องการขยายธุรกิจให้เติบโต หรือการเงินขาดสภาพคล่องก็มักที่จะต้องแจ้งจดทะเบียนเพิ่มทุน เพื่อนำเงินทุนเข้ามาใช้ขยายหรือแก้ปัญหาธุรกิจต่อไป

ทำไมต้อง จดทะเบียนเพิ่มทุน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินเพิ่มในการบริหารธุรกิจ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนเข้ามา เพื่อให้บริษัทมีเงินทุนสำหรับใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ นอกจากนี้สำหรับมองว่าการที่บริษัทของเราเงินทุนจดทะเบียนที่สูง จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือตามไปด้วย อย่างไรก็ตามกรณีนี้อาจไม่จำเป็นมากขนาดนั้น ควรวิเคราะห์เงินในการจดทะเบียนจากแผนธุรกิจ และรูปแบบของธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่มากกว่า หากจำเป็นต้องขยายธุรกิจจริง ๆ ค่อยจดทะเบียนเพิ่มทุนภายหลังได้ 

เมื่อไหร่ที่ควร จดทะเบียนเพิ่มทุน

สำหรับการจดทะเบียนเพิ่มทุนก็มีจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการจดเพิ่ม เพื่อให้ธุรกิจใช้เงินได้อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องรีบจดทะเบียนทุนสูงตั้งแต่แรก โดยปกติแล้วช่วงเวลาที่ควรจดทะเบียนเพิ่มทุนแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ  ดังนี้

1. จดทะเบียนเพิ่มทุน เพื่อนำทุนมาขยายธุรกิจ

จะเป็นช่วงที่บริษัทกำลังเติบโต จำเป็นต้องขยายธุรกิจ เพิ่มพนักงาน เพิ่มเครื่องจักร หรือสาขา เมื่อธุรกิจของเราดำเนินไปจนถึงจุดนั้นแล้ว ย่อมสามารถเพิ่มเงินทุนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจจดทะเบียนเพิ่มแนะนำให้ลองคาดการณ์รายได้ จัดวางแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต เงินทุนที่เพิ่มเข้ามาจะนำไปใช้ทำอะไรให้เรียบร้อยเพื่อการใช้เงินได้อย่างคุ้มค่านั่นเอง

2. จดทะเบียนเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มหุ้นส่วนในองค์กร

นอกจากนี้ในการเพิ่มทุนหลายครั้งไม่เพียงแค่เป็นการขยายธุรกิจแต่เป็นการรับหุ้นส่วนรายใหญ่เข้ามาเพิ่มเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นนั่นเอง โดยลักษณะนี้วัตถุประสงค์อาจไม่ใช่การนำเงินไปใช้ในการขยายเพียงอย่างเดียว แต่หลายครั้งได้คู่คิดด้านธุรกิจมาเพิ่มก็สามารถจดเข้ามาเพื่อช่วยกันดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตได้ นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หลายองค์กรใช้เพื่อขยายการเติบโต

และนอกเหนือจากสองข้อที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ในบางครั้งบริษัทที่อาจไม่ได้ดำเนินธุรกิจไปได้ดีมากนัก ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมในการช่วยกู้ธุรกิจให้อยู่รอดได้ และในกรณีที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ เจ้าของธุรกิจก็มักจะเป็นผู้ที่นำเงินของตัวเองอัดฉีดเข้ามาเพื่อเพิ่มเงินทุนให้บริษัท โดยต้องการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปด้วย ทั้งนี้ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีนี้ ขอแนะนำให้จัดทำแผนกู้วิกฤตให้เรียบร้อย เงินที่นำเข้ามาจะนำไปใช้ทำอะไร และความเป็นไปได้ในการฟื้นตัวของธุรกิจนั้นมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อช่วยในการตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นนั่นเอง

ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เหมาะสมกับการเพิ่มทุน เช่น 

บริษัท A เป็นบริษัท Tech Startup แอปพลิเคชันด้านสุขภาพที่เพิ่งเริ่มต้นได้ปีกว่า เริ่มต้นจดบริษัทด้วยทุน 1 ล้านบาท แต่ด้วยแนวโน้มเทรนด์ของสุขภาพที่จากการวิเคราะห์ของเจ้าของธุรกิจแล้ว มองว่าน่าจะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชันต่อวันก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยปัจจัยด้านโอกาสทั้งในมุมของเทรนด์ภาพรวม และยอดการใช้งานในปัจจุบัน ทำให้บริษัท A ตัดสินใจที่จะเพิ่มเงินทุนเพื่อทำการพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับการใช้งานที่มากขึ้น การทำการตลาดที่เจาะกลุ่มโดยใช้ตัวอย่าง Persona จากกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน และมองหากลุ่มใหม่ รวมไปถึงการ พัฒนาฟีเจอร์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าในใช้งานแอปพลิเคชัน 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่บริษัท A ต้องการพัฒนาเป็นการนำเงินทุนที่ต้องการจดทะเบียนเพิ่มเข้ามาใช้ในการจ้างพนักงาน งบการตลาด สวัสดิการเพื่อดึงดูดพนักงานมากฝีมือมาร่วมในโปรเจกต์นี้ โดยแนวโน้มของบริษัท A เป็นไปในทางที่ดี และการจดทะเบียนเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคต และเป็นบันไดไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นขององค์กร

3 ข้อบ่งชี้เมื่อธุรกิจควรจดทะเบียนเพิ่มทุน

เอกสารสำหรับการจดทะเบียนเพิ่มทุน

ในส่วนถัดมาเราขอพาทุกท่านมาดูเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการจดทะเบียนเพิ่มทุนกันบ้าง โดยเอกสารที่ต้องใช้ทั้งหมดประกอบไปด้วยเอกสารดังนี้

1. เอกสารคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (บอจ. 1)

2. แบบรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด

3. แบบจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ หรือ มติพิเศษ (บอจ. 4)

4. หนังสือบริคณหสนธิ ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว พร้อมจ่ายค่าอากรแสตมป์ 50 บาท

5. หลักฐานรับเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน ที่บริษัทออกให้ผู้ถือหุ้น

6. คำสั่งศาลในกรณีที่ฟื้นฟูกิจการ

7. สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการที่ลงชื่ออยู่ในคำขอจดทะเบียน

8. สำเนาหลักฐานรับรองลายมือชื่อ ถ้ามี

9. หนังสือมอบอำนาจ ถ้ามี

10. สำหรับธุรกิจที่ต้องการจดทะเบียนเพิ่มเติมมากกว่า 5 ล้านบาท จำเป็นต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมตามคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

เอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนมีด้วยกัน 10 ฉบับข้างต้น นอกจากนี้เอกสารทุกฉบับที่เป็นสำเนา จำเป็นต้องให้ผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อยหนึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้อง ยกเว้นในส่วนของบัตรประชาชนที่เจ้าของบัตรต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ในการจดทะเบียนเพิ่มทุนจะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน 500 บาท
  • ค่าธรรมเนียมหนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการรับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน หน้าละ 50 บาท

ขั้นตอนการ จดทะเบียนเพิ่มทุนบริษัท

สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนบริษัท สามารถทำตาม 3 ขั้นตอนได้ดังนี้

1. ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น

ขั้นตอนแรกเป็นการออกหนังสือสำหรับการนัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยสามารถทำได้ผ่านช่องทางการส่งไปรษณีย์ หรือการส่งหนังสือมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น นอกจากนี้บริษัทที่มีหุ้นผู้ถือ หรือมีข้อบังคับ จำเป็นที่จะต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องดำเนินการก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือตามแต่ข้อบังคับกำหนดไว้

2. จัดการประชุมผู้ถือหุ้น

ถัดมาเมื่อทำการออกหนังสือนัดประชุมเรียบร้อยแล้ว เป็นขั้นตอนของการจัดประชุมจริง โดยผู้ร่วมประชุมต้องมีจำนวนทั้งสิ้น 2 คนขึ้นไป อีกทั้งเมื่อนับจำนวนหุ้นของผู้ร่วมประชุมแล้วต้องมากกว่า 1 ใน 4 ของหุ้นทุนทั้งหมด โดยในการประชุมจะเป็นวาระการอนุมัติการจดทะเบียนเพิ่มทุน ซึ่งคะแนนที่ได้รับต้องมากกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมดที่เข้าร่วมในการประชุม

3. ยื่นจดทะเบียนเพิ่มทุน

เมื่อประชุมและได้รับการอนุมัติในการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมแล้ว เป็นขั้นตอนการยื่นเอกสารให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยต้องดำเนินการภายใน 14 วันหลังจากที่มีมติให้เพิ่มทุนในการจดทะเบียน

เพียง 3 ขั้นตอนก็เสร็จเรียบร้อย อย่าลืมตรวจสอบเอกสารที่ต้องนำไปใช้ในการเพิ่มทุนให้เรียบร้อย เพื่อให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว

ความสำคัญในการจดทะเบียนเพิ่มทุน คือการรู้ว่าต้องเพิ่มทุนเมื่อไหร่

การจดทะเบียนไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด จะมีขั้นตอนเอกสารที่น้อยกว่าในขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทครั้งแรก ทั้งนี้สิ่งที่ควรให้ความสำคัญแท้จริงคือเหตุผลในการเพิ่มทุน และการวางแผนถึงอนาคตหลังจากที่ทำการเพิ่มทุนแล้ว เพื่อให้สามารถต่อยอดจากจำนวนทุนที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตให้กับธุรกิจ

สำหรับท่านไหนที่กำลังคิดตัดสินใจในการจดทะเบียนเพิ่มทุน และเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจให้เติบโต PEAK Account โปรแกรมบัญชีออนไลน์ครบวงจร พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลระบบบัญชีของคุณให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงโปรแกรมอื่น ๆ อาทิ PEAK Payroll โปรแกรมเงินเดือน, PEAK Asset โปรแกรมจัดการสินทรัพย์, PEAK Board โปรแกรมวิเคราะห์ธุรกิจ, PEAK Tax โปรแกรมจัดการภาษี ซึ่งโปรแกรมทั้งหมดมาพร้อมคู่มือการใช้งาน ปรับใช้ในองค์กรได้อย่างง่ายดาย!

PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ จัดการบัญชีอย่าง SMART

ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://www.peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine