คอนเทนต์ครีเอเตอร์เสียภาษีอย่างไร? … เมื่อรายได้ทั้งปีเกิน 6 หมื่นบาทต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ครึ่งปี(ภ.ง.ด.94) และประจำปี(ภ.ง.ด.90) โดยไม่สนใจว่าจะมีภาษีที่ต้องจ่ายหรือไม่ ทั้งนี้ถ้ารายได้ทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาทจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเรียกเก็บภาษีอีก 7% ให้กรมสรรพากรด้วย
การแข่งขันอย่างดุเดือดบนโลกออนไลน์ทำให้เกิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ๆเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอีกหนึ่งอาชีพที่เติบโตไปพร้อมกับกระแสเหล่านี้นี้ คือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์(Content Creator) ไม่ว่าจะเป็น ยูทูปเบอร์ (Youtuber) ติ๊กต๊อกเกอร์ (TikToker) หรืออินฟลูเอนเซอร์(Influencer) ที่จะสร้างเนื้อหาที่มีสาระตลกขบขันเพื่อให้เกิดการกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม ยิ่งมีคนชื่นชอบมากเท่าไหร่ รายได้ก็จะเยอะขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้า หรือส่วนแบ่งจากค่าโฆษณาก็ตาม ทำให้อาชีพกลุ่มนี้เป็นที่จับตามองของกรมสรรพากรว่าเสียภาษีกันบ้างหรือเปล่า แล้วภาษีที่เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องรู้มีอะไรบ้าง เรามีดูกันครับ
รายได้ของยูทูปเบอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีอะไรบ้าง?
เพราะเป็นอาชีพที่พึ่งได้รับความนิยมมาไม่นาน ในด้านภาษีจึงยังไม่มีข้อกำหนดภาษีสำหรับอาชีพเหล่านี้โดยเฉพาะ การคำนวณภาษีในปัจจุบันจึงต้องนำประเภทรายได้มาพิจารณาดูว่าแต่ละรายได้เป็นประเภทไหน ซึ่งรายได้แต่ละประเภทก็จะมีอัตราค่าใช้จ่ายที่นำมาหักได้ไม่เท่ากันครับ โดยรายได้หลักๆ จะมาจากค่ารีวิวสินค้า ส่วนแบ่งค่าโฆษณา สรุปเป็นตารางได้ดังนี้ครับ
เมื่อแยกได้ว่ามีรายได้ประเภทอะไรบ้าง เราก็จะนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(Personal Income Tax: PIT) ต่อได้ ในขณะเดียวกันถ้ารายได้รวมเกิน 1.8 ล้านต่อปีก็จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม(Value Added Tax: VAT) อีก 7% จากรายได้เพิ่มเติม ทีนี้เรามาทำความเข้าใจในแต่ละภาษีกันครับ
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เมื่อเราทราบประเภทของรายได้ว่าเรามีประเภทไหนบ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ตามตารางด้านบนแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการคำนวณ ดังนี้ครับ
ขั้นตอนที่ 1 : รายได้ หัก ค่าใช้จ่าย หัก ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ขั้นตอนที่ 2 : เงินได้สุทธิ คูณ อัตราภาษีขั้นบรรได 5% – 35% = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่าง นาย ก มีรายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้า 1 ล้านบาท มีรายจ่ายและต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริง 5 แสนบาท แต่เนื่องจากการรีวิวสินค้าเป็นรายได้ประเภทที่ 2 ทำให้จะหักค่าใช้จ่ายสูงสุดได้เพียง 1 แสนบาท ภาษีที่ต้องชำระคำนวณได้ดังนี้
Step1: รายได้ขายสินค้า 1 ล้าน หัก รายจ่าย 1 แสน หัก ลดหย่อนส่วนตัว 6 หมื่น = เงินได้สุทธิ 8.4 แสน
Step2 : เงินได้สุทธิ 8.4 แสน คูณ อัตราภาษีขั้นบรรได 5% – 35% = ภาษีที่ต้องจ่าย 83,000 บาทถ้าอยากทราบวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบละเอียดขึ้น ผมขอแนะนำให้อ่านบทความ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณภาษีอย่างไร?
PEAK ขอเล่า :
กรณีมีรายได้จากการขายสินค้าหรือรายได้งานอีเวนต์ พรีเซ็นเตอร์ ที่เข้าลักษณะเงินได้ประเภทที่ 8 ต้องจัดทำบัญชีด้วยแม้จะทำธุรกิจในฐานะบุคคลธรรมดาก็ตาม ถ้าอยากทราบวิธีการจัดทำ และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามไปอ่านที่บทความนี้ได้เลยครับ บุคคลธรรมดาต้องทำบัญชีไหม บัญชีเงินสดรับจ่ายคืออะไร?
กำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ถ้าปีใดเรามีรายได้ทั้งปีถึง 6 หมื่นบาท(กรณีสถานะสมรส ต้องรายได้ถึง 1.2 แสนบาท) ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้งดังนี้
- “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี” เป็นการยื่นแบบแสดงรายการรายได้ประเภท 40(5)-(8) ที่ได้รับตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน โดยยื่นภายในเดือนกันยายนของปีภาษีนั้นด้วยแบบ ภ.ง.ด.94 และภาษีที่เสียนี้นำไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีสิ้นปีได้
- “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี” เป็นการยื่นแบบแสดงรายการรายได้ประเภท 40(1)-(8) ที่ได้รับแล้วตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคม และต้องยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยถ้าทั้งปีมีรายได้จากเงินเดือน(เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1) เพียงอย่างใดให้ยื่นด้วยแบบ ภ.ง.ด. 91 แต่ถ้ามีรายได้ที่มากกว่าเงินเดือนให้ยื่นด้วยแบบ ภ.ง.ด. 90
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)
นอกจากภาษีเงินได้ เราต้องตรวจสอบอีกว่ารายได้รวมกันทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาทหรือไม่ เพราะถ้าปีใดเกินจะมีหน้าที่เพิ่มเติมคือ ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท โดยต้องยื่นเสียภาษีเป็นรายเดือนตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
แล้วเมื่อเราต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) หน้าที่ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องทำเพิ่มเติมคือเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากผู้จ้างเพิ่มเติม เช่น เดิมเราคิดค่ารีวิวสินค้าครั้ง 1,000 บาท แต่เมื่อเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)แล้ว เราต้องเรียเก็บค่ารีวิวสินค้าเป็น 1,070 บาท โดยเรายังได้รับรายได้เท่าเดิมคือ 1,000 บาท แต่อีก 70 บาท(1,000*7%) เราต้องนำเงินส่งกรมสรรพากร
ในเชิงธุรกิจข้อเสียของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ทำให้ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินแพงขึ้นอีก 7% ถ้าเราไม่ได้โดดเด่นพอ ผู้ว่าจ้างอาจไปใช้บริการคนที่รีวิวสินค้าได้เหมือนเราแต่ค่าตัวถูกกว่า แต่ในส่วนของข้อดีก็มีเช่นกัน คือ เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่เราจ่ายไปขอคืนได้
หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยได้ว่าก็เสียภาษีเงินได้ไปแล้ว ทำไมยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก? เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้เก็บจากรายได้ที่เราได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นภาษีที่เก็บจากการบริโภคสินค้าหรือใช้บริการ
สรุปภาษียูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์เสียภาษีอย่างไร?
เมื่อเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีรายได้จากการค่ารีวิวสินค้า ค่าโชว์ตัว ส่วนแบ่งโฆษณาต้องยื่นแบบภาษีครึ่งและสิ้นปี(ภ.ง.ด.90/94) พร้อมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และถ้ารายได้รวมทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาทจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเรียกเก็บภาษีอีก 7% ให้กรมสรรพากรอีกด้วย
หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณต้องการที่ปรึกษาเพื่อวางแผนและจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ PEAK เรามีพันธมิตรสำนักงานบัญชีมากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมช่วยดูแลคุณ สนใจ คลิก